phone

สอนให้เด็ก “คิดเป็น” ได้ไม่ยาก (ตอนที่ 1) วงเดือน เดชะรินทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาปฐมวัย

สอนให้เด็ก “คิดเป็น” ได้ไม่ยาก (ตอนที่ 1)
วงเดือน เดชะรินทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาปฐมวัย

     เรามักจะได้ยินผู้เชี่ยวชาญหรือนักวิจัยออกมาแสดงความคิดเห็นเมื่อเกิดปัญหาในสังคมไทย โดยเฉพาะปัญหาเด็ก เยาวชนและวัยรุ่น ไม่ว่าจะเป็นการคลั่งไคล้ลุ่มหลงในเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น การเปลี่ยนมือถือบ่อยๆ การหาซื้อสินค้ามีชื่อเสียง การแต่งกายตามแฟชั่นเพียงเพื่อการต้องการได้รับการยอมรับจากกลุ่มเพื่อนหรือเพื่อเข้าสังคม รวมไปถึงการแต่งกายที่แปลกประหลาดที่เกิดขึ้นเนื่องมาจากการเลียนแบบ จนกระทั่งล่าสุดมีเหตุการณ์ที่น่าสะเทือนขวัญ เมื่อเด็กนักเรียนอายุ 12 ปี เลียนแบบเรื่องราวในเว็บไซต์ ใช้สื่ออินเตอร์เน็ตล่อลวงเด็กหญิงวัยเดียวกันไปข่มขืน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเหล่านี้เป็นการตอกย้ำให้ผู้ใหญ่ในสังคมได้ตระหนักและหาเหตุผลว่า เพราะเหตุใดจึงเกิดเรื่องเช่นนี้ขึ้นในสังคมไทย เป็นเพราะเด็กกลุ่มนี้ขาดกระบวนการ “คิด” “ไม่ได้ยั้งคิด” “ไม่ได้ไตร่ตรอง” ขาดการพิจารณาว่าสิ่งที่ “จะกระทำ” หรือ “ได้กระทำอยู่” นั้นควรหรือไม่ควรกระทำ มีความเหมาะสมกับกาลเทศะและสภาพการณ์ที่เป็นอยู่หรือไม่?!! 

     ดังนั้นการปลูกฝังให้เด็กเกิดกระบวนการคิดขึ้นในตนเองจึงถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก นอกจากจะทำให้เด็กตระหนักและไตร่ตรองก่อนลงมือกระทำเรื่องใดๆ แล้ว กระบวนการคิดที่ดียังส่งเสริมให้เด็กคิดต่อยอดและคิดแตกฉาน ใช้เพื่อเสริมสร้างการกระทำที่สร้างสรรค์ สร้างความมั่นใจให้กับตนเอง นอกจากนี้การคิดยังสามารถพัฒนาทักษะในเรื่องการปรับตัวเมื่อเด็กต้องเผชิญกับสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ ได้เป็นอย่างดีอีกด้วย การคิดจึงมีประโยชน์และเทียบได้กับภูมิคุ้มกันในการป้องกันตนเองจากสิ่งที่ก่อให้เกิดความเสียหาย ทำให้เด็กสามารถที่จะเลือกสรรหาสิ่งที่เหมาะสมให้กับตนเอง ซึ่งการคิดสามารถที่จะพัฒนาและฝึกฝนได้โดยเริ่มตั้งแต่วัยเด็กเล็ก
กระบวนการคิดสามารถสร้างได้ตั้งแต่ปฐมวัย นั่นคือสามารถเริ่มได้ตั้งแต่วัยเด็กเล็ก คือ 2-7 ปี ต้องเริ่มปลูกฝังจากที่บ้าน โดยพ่อแม่ผู้ปกครองต้องเป็นผู้ริเริ่มและส่งเสริมการ “คิดเป็น” ให้แก่เด็ก ซึ่งเมื่อเด็กเข้าสู่ระบบการเรียนการสอนที่โรงเรียน ครูจะเป็นผู้สนับสนุนและส่งเสริมให้เด็กมีกระบวนการคิดที่เชื่อมโยงและมีเหตุมีผล คิดวิเคราะห์ สังเคราะห์และสามารถประเมินค่าได้ว่าสิ่งใดควรหรือไม่ควร ทำให้เด็กคิดอย่างมีวิจารณญาณ ซึ่งเป็นการคิดที่ซับซ้อนและเป็นพื้นฐานการคิดขั้นสูงต่อไป

พัฒนาการของการคิด
     การคิดมีความสำคัญต่อมนุษย์เป็นอย่างมาก ทำให้มนุษย์สามารถแก้ปัญหาและสามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาได้ และทำให้เราดำรงชีวิตมาได้จนถึงทุกวันนี้
      พัฒนาการทางด้านการคิดของคนเรานั้น เริ่มตั้งแต่แรกเกิด ตั้งแต่การใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 การชิมรส การมองเห็น การได้ยิน จมูกดมกลิ่น และการสัมผัสผ่านทางผิวหนัง ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการกระตุ้นสมอง สมองจะส่งกระแสไฟฟ้าผ่านเส้นใยของเซลล์ประสาทที่มีการแตกแขนงอย่างมากมาย ทำให้เกิดการรับรู้ การตอบสนองและการปรับตัวต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเด็กได้ลงมือกระทำกับสิ่งของมากเท่าไหร่สมองยิ่งเจริญเติบโตมากเท่านั้น 
      การคิดเป็นการพัฒนาสมองที่ต้องได้รับการกระตุ้นตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา และเมื่อเด็กคลอดออกมาแล้วได้รับการกระตุ้นสมองอย่างต่อเนื่องจะทำให้เกิดเครือข่ายเส้นใยสมองและจุดเชื่อมโยงต่างๆ จะเห็นได้ว่าตั้งแต่แรกเกิดเด็กจะพยายามร้องเมื่อไม่สบาย เมื่อหิว เมื่อร่างกายเปียก และเข้าหาคนที่ให้ความรักความอบอุ่น เมื่อเด็กโตขึ้นก็จะร้องตอบสนองเมื่อมีความเจ็บปวด ไม่พอใจ เมื่อพอใจก็จะแสดงออกด้วยการหัวเราะหรือยิ้ม 

      การคิดเป็นตัวกำหนดสิ่งที่เรารู้ เราคิดอย่างไร รู้อะไร และกำหนดวิถีชีวิตของตนเอง ทำให้เราแสดงออกด้วยการพูด การกระทำ การเขียน การพูดการคิดเป็นพื้นฐานของสติปัญญาและความเข้าใจ การคิดทำให้เราสามารถตัดสินใจโดยอาศัยความรู้ ประสบการณ์ ข้อมูลทั้งเก่าและใหม่มาเป็นองค์ประกอบ เด็กจะเกิดการเรียนรู้และเข้าใจสิ่งต่างๆ มากขึ้น ส่งผลให้เด็กฉลาดมากขึ้นตามไปด้วย

ทักษะการคิด (Thinking Skill) มีอะไรบ้าง
     ทักษะการคิดในเด็กปฐมวัยหมายความว่าเด็กสามารถสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง ประกอบด้วยความสามารถ 6 ด้าน
     1. สามารถเชื่อมโยงข้อมูล จากข้อมูลใหม่กับข้อมูลเก่าและนำมาเล่าเรื่องได้ ตามที่ Piaget ได้มีการศึกษาพบว่า การคิด การพัฒนาสติปัญญาเกิดจากการที่เด็กได้รับข้อมูลใหม่ ซึ่งการนำข้อมูลมาเชื่อมโยงเข้ากับประสบการณ์เดิมที่ตนมีอยู่ ทำให้เกิดความรู้ใหม่ขึ้นมา
     2. บอกความต้องการในสิ่งที่อยากรู้ได้ สามารถบอกได้ว่าตนเองรู้อะไร หรือต้องการรู้อะไร 
     3. นำข้อมูลไปใช้ และสามารถอธิบายในสิ่งที่ตนกำลังกระทำอยู่ได้
     4. สามารถบอกจุดที่ชี้ถึงความไม่สำคัญของปัญหาที่ตนเองไม่จำเป็นต้องสนใจได้
     5. สรุปข้อมูลความรู้ที่ค้นพบใหม่ เชื่อมโยงกับความรู้เก่าอย่างเป็นระบบได้
     6. นำความคิดที่ได้มาดัดแปลงเป็นสิ่งใหม่ หรือนำความรู้มาปรับใช้ให้เป็นประโยชน์ได้
     การที่สมองจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้นจำเป็นต้องผ่านการฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง การจำเพียงอย่างเดียวไม่ได้ทำให้เกิดการเรียนรู้ แต่การคิดจะทำให้สมองทำงาน ทำให้เข้าใจเนื้อหาและความรู้ การคิดเป็น การทำงานของสมองที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติเพียงแค่การพัฒนาและฝึกฝนสม่ำเสมอ เราจึงต้องจัดสิ่งเร้าให้เด็กเกิดความอยากรู้อยากเห็น โดยการสร้างบรรยากาศที่อบอุ่นและเต็มไปด้วยสิ่งแปลกใหม่สามารถกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ให้มากพอได้

การคิดมีประโยชน์อย่างไร
     1. การพัฒนาความคิดทำให้เด็กรู้จักคิด รู้จักแก้ปัญหา สามารถปกป้องตนเองจากความคิดที่ไม่เป็นประโยชน์ได้ ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ที่มีคุณค่า ซึ่งจะสร้างสุขให้เกิดขึ้นแก่ตนเอง
     2. ทำให้เกิดการพัฒนาความจำด้วยการคิดที่จะลงมือปฏิบัติ ลงมือกระทำกับสิ่งของ คนที่กระทำซ้ำๆ จนเข้าใจจะเกิดการจดจำที่ยั่งยืน โดยดูจากการแสดงออกด้วยการลงมือกระทำของเด็ก การเล่าเรื่องได้ อธิบายความแตกต่างได้ สามารถสังเคราะห์คือเรียกข้อมูลออกมาใช้ได้
     3. ความสามารถในการคิดย้อนกลับว่าอะไรคือสาเหตุ (Cause) อะไรคือผล (Effect) ด้วยการตอบคำถาม อะไรเกิดขึ้น เกิดขึ้นอย่างไร ทำไมจึงเกิด เพื่อค้นหาคำตอบ และหาความสัมพันธ์ของเหตุและผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำนั้นคืออะไร

Scroll